Sustainable
อุทยานเทคโนโลยี มจพ.
ภายใต้กรอบนโยบายในการพัฒนาสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อาคาร 99 ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของสำนักงานอุทยานเทคโนโลยี มจพ. ได้รับการออกแบบให้คำนึงถึงการลดการใช้พลังงานอาคารและส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานภายในอาคาร และได้รับรางวัลฉลากแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ที่ระดับดีมาก ตามโครงการกำกับดูแลและสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์มาตรฐานอาคารพลังงาน (BEC) จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ภายใต้กรอบการออกแบบอาคาร 4 ด้าน คือ ระบบเปลือกผนังอาคาร ระบบหลังคา ระบบการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศ และระบบแสงสว่างภายในอาคาร ทำให้ในภาพรวมด้านการบริหารจัดการพลังงานอาคารสามารถประหยัดการใช้พลังงานได้มากกว่าอาคารทั่วไปอย่างน้อยร้อยละ 50 ของสัดส่วนการใช้พลังงานโดยรวมของอาคาร
ภาพที่ 3.1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับรางวัลฉลากแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ที่ระดับดีมาก จากผลงานออกแบบและก่อสร้างอาคาร 99 อุทยานเทคโนโลยี มจพ.
โดยรูปด้านซ้าย แสดงตัวแทนคณะผู้บริหารและอาจารย์ของมหาวิทยาลัย เข้าร่วมในพิธีรับรางวัล
ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.สาร์รัฐ ประกอบชาติ ผู้อำนวยการกองกำกับและอนุรักษ์พลังงาน เป็นผู้มอบรางวัล เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 โดยเกณฑ์รางวัลที่ระดับดีมาก จะต้องมีค่าร้อยละการใช้พลังงานโดยรวมของอาคารลดลงระหว่างร้อยละ 50-70 และรูปด้านขวา แสดงรูปอาคารอุทยานเทคโนโลยี มจพ.
เมื่อเปิดดำเนินงานอาคาร เมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม 2566
และในปีการศึกษา 2566 ซึ่งเป็นปีการศึกษาแรกของการดำเนินงานของอุทยานเทคโนโลยี มจพ. อุทยานเทคโนโลยี มจพ. ได้กำหนดให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุทยานเทคโนโลยี มจพ. ระหว่างคณะกรรมการบริหารอุทยานเทคโนโลยี มจพ. และบุคลากรทำงานภายในส่วนงาน และได้กำหนดให้มีกิจกรรม/โครงการเพื่อสนับสนุนนโยบายการพัฒนาความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวของมจพ. ที่มุ่งเน้นสู่ความยั่งยืนอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไว้ในแผนปฏิบัติงานของอุทยานเทคโนโลยี มจพ. ไม่น้อยกว่า 2 กิจกรรม/โครงการ โดยใช้เกณฑ์ UI Green Metric World University Ranking และ เกณฑ์การออกแบบปรับปรุงอาคารภาครัฐที่มีอยู่เดิมให้เป็นอาคารเขียวภาครัฐ (Green Government Office Design Guidelines for Major Renovations) มาพิจารณาร่วมด้วย ภายใต้การดำเนินงาน 4 ขั้นตอน
1. การรับฟังนโยบายจากคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ตลอดจนการรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ จากโครงการสัมมนาจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุทยานเทคโนโลยี มจพ. และการประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกันของบุคลากรของอุทยานเทคโนโลยี มจพ.
2. เสนอแนวทางการพัฒนาตามนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว เพื่อบรรจุเป็นกิจกรรม/โครงการ
ไว้ในแผนปฏิบัติงานประจำปี
3. ดำเนินโครงการ
4. ติดตามและสรุปผลรายงาน
โดยมีผลการดำเนินงาน เป็นดังนี้
1. ด้านที่ตั้ง ภูมิทัศน์ และโครงสร้างพื้นฐาน
โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อลดความร้อนของผิวพื้นที่ดาดแข็ง และเพิ่มพื้นที่ซึมผ่านน้ำโดยรอบอาคารปรับปรุงพื้นที่ดาดแข็งบริเวณโดยรอบอาคาร 99 โดยใช้บล็อกพื้นที่สามารถปลูกหญ้านวลน้อยได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ของพื้นที่ผิวบล็อก (บล็อก Line Turf ขนาด 24 x 30 x 8 มม.) แทนการดาดคอนกรีตเดิม เพื่อลดผลกระทบในการในการสะสมและคายความร้อนโดยรอบพื้นที่อาคารอุทยานเทคโนโลยี มจพ. ช่วยเพิ่มความสามารถในการซึมผ่านน้ำของถนน และลดปัญหาน้ำไหลนองถนนในช่วงพายุฝนโดยรอบพื้นที่อาคารอุทยานเทคโนโลยี
ภาพที่ 3.2 โครงการปรับปรุงพื้นผิวดาดแข็งถนนโดยรอบอาคาร 99 อุทยานเทคโนโลยี มจพ.
โครงการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพานะไฟฟ้า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภดล วิวัชรโกเศศ หัวหน้าโครงการ Smart EV Charging Station ศูนย์ปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงาน อุทยานเทคโนโลยี มจพ. ร่วมกับ SIEMENS Co.,Ltd. ในการวิจัยและพัฒนาชุดซอฟแวร์สำหรับบริหารจัดการสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีสถานีสาธิต ประกอบไปด้วย สถานีอัดประจุไฟฟ้าย่อย จำนวน 3 สถานี มีขนาดกำลังอัดประจุไฟฟ้าต่อสถานี เท่ากับ 22 kW ติดตั้ง ณ บริเวณลานด้านหน้าอาคาร 99 อุทยานเทคโนโลยี มจพ. ซึ่งโครงการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการส่งเสริมและวิจัยการพัฒนาการสร้างนวัตกรรมสีเขียวในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนา Green Infrastructures ภายในมหาวิทยาลัย
ภาพที่ 3.3 โครงการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพานะไฟฟ้า จำนวน 3 สถานีย่อย
ณ อาคาร 99 อุทยานเทคโนโลยี มจพ.
2. ด้านการเดินทางและยานพาหนะ
2.1 มีการให้บริการรถขนส่งสิ่งของและบริการรับส่งบุคลากรระหว่างหน่วยงานต่างๆ ภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยด้วยรถไฟฟ้า (Electric Vehicles) จำนวน 2 คัน
2.2 บุคลากรมีการใช้สกูตเตอร์ไฟฟ้าจำนวน 2 คัน และจักรยานอีกจำนวน 2 คัน สำหรับการติดต่อระหว่างหน่วนงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย
3. ด้านการศึกษา
การลงนามความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ โดยมีสถาบัน จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย มจพ. (ตัวแทน โดย ศาสตราจารย์ ดร. สุชาติ เซี่ยงฉิน) BYD Co.,Ltd. (ตัวแทน โดย Mr. Xun Meng, Deputy General Manager of BYD Human Resources Division) และ Henan Mechanical and Electrical Vocational College (HMEVC) (ตัวแทน โดย Mr. Yao Yong, Secretary of HMEVC Party Committee) จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหลักสูตรการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เกิดการเชื่อมโยงการการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาสู่ระดับอุดมศึกษา โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจาก HMEVC ศึกษาหลักสูตรปริญญาตรีเทคโนโลยี (B.Tech.) ในสาขาเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่และระบบอัตโนมัติ (Next Generation Automotive and Automation System Technology: NAA T) ซึ่งกิจกรรมการเรียนการสอนจะจัดขึ้นที่อุทยานเทคโนโลยี มจพ.มาบตาพุด มจพ.วิทยาเขตระยอง และที่วิทยาเขตหลักในกรุงเทพฯ และเพื่อแลกเปลี่ยนบุคลากรและการสร้างงานวิจัยร่วมกันเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ การถ่ายทอดความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เชิงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกสำหรับยานยนต์สมัยใหม่
ภาพที่ 3.4 การลงนามความร่วมมือกับ BYD และ HMEVC ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และคณะทำงานร่วมกันทั้ง 3 สถาบันเข้าเยี่ยมชมอุทยานเทคโนโลยี มจพ. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2567
กิจกรรมให้การศึกษาดูงานสำหรับนักศึกษา โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจนจิต เอี่ยมจตุรภัทร รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารองค์กร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภดล วิวัชรโกเศศ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ รองศาสตราจารย์ ดร.ตรีเนตร ยิ่งสัมพันธ์เจริญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และเจ้าหน้าที่ ร่วมให้การต้อนรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มจพ. และอาจารย์ ดร.ปณิดา คุณาวรรณ อาจารย์ผู้ควบคุม เข้าศึกษาดูงานและนำชมการออกแบบระบบอาคารทางวิศวกรรม อาทิ งานระบบโครงสร้างอาคาร ระบบไฟฟ้าและการจัดการพลังงานอาคาร ระบบสุขาภิบาลและระบบบำบัดน้ำเสียอาคาร เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเชื่อมโยงการออกแบบระบบอาคารอนุรักษ์พลังงานกับการออกแบบสถาปัตยกรรมจากสถานที่จริง
ภาพที่ 3.5 การศึกษาดูงานโครงสร้างและระบบอาคารอุทยานเทคโนโลยี มจพ. (อาคาร 99) ของนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มจพ. เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบอาคารอนุรักษ์พลังงานและการออกแบบทางสถาปัตยกรรมจากสถานที่จริง เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ณ อาคาร 99 อุทยานเทคโนโลยี มจพ.
ซึ่งจากผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา อุทยานเทคโนโลยี มจพ. มีการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางมหาวิทยาลัยสีเขียวแบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านที่ 1 การพัฒนาภูมิทัศน์และโครงสร้างพื้นฐาน (Green Infrastructures) ด้านที่ 2 การพัฒนาการเดินทางและยานพาหนะพลังงานทางเลือกทดแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล และด้านที่ 3 การพัฒนาการศึกษาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่และการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งสุขภาวะการทำงานของบุคลากร สร้างและพัฒนากระบวนทัศน์การศึกษาและพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมให้นักศึกษาได้ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่โดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักศึกษา ณ อุทยานเทคโนโลยี มจพ. มาบตาพุด อีกด้วย
สรุปผลการดำเนินงานในรอบปีการศึกษา 2566 นี้ อุทยานเทคโนโลยี มจพ. มีจำนวนโครงการ/กิจกรรม จำนวน 5 โครงการ/กิจกรรม สูงกว่าค่าคาดหวังที่อุทยานเทคโนโลยี มจพ. ได้กำหนดไว้ คือ ให้มีการการดำเนินงานโครงการ/กิจกรรมที่สอดคล้องต่อการพัฒนาตามแนวทางมหาวิทยาลัยสีเขียว ไม่น้อยกว่า 2 โครงการ/กิจกรรม